โทรศัพท์/โทรสาร 038-514-812

งานประเพณีแห่ธงตะขาบ

ประวัติความเป็นมา

ประเพณีแห่ธงตะขาบ เป็นประเพณีของชาวรามัญที่ตั้งรกรากอยู่ใกล้วัดพิมพาวาส (ใต้) ในเขตอำเภอบางปะกง โดยจะมี การแห่ธงตะขาบในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ ตั้งแต่วันที่ 12-14 เมษายนของทุกปี ในการแห่ธงตะขาบ มีประเพณีที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับหัตถกรรมพื้นบ้าน คือ การทำธงกระดาษ อันได้รับความรู้ถ่ายทอดมาจากบิดามารดา ช่างทำธงจะต้องมีความรู้และทราบรายละเอียดของธงเป็นอย่างดี เช่น ตัวตะขาบ 1 จะมีนม 9 ราวนม นมละ 14 ช่วง และนมตะขาบจะต้องเป็นนมคู่ หากเป็นตะขาบตัวเมียจะมีปากเพียงปากเดียว ส่วนตัวผู้ต้องมี 2 ปาก เมื่อทำเสร็จผู้ทำจะนำแป้ง หวี กระจก ผม 1 ปอย และผ้าเช็ดหน้า แขวนไว้ที่ปากตะขาบ การถวายธงตะขาบจะถวายครั้งละ 2-3 ตัว การแห่ธงตะขาบนิยมแห่ทางบกมากกว่าทางเรือ เมื่อถึงวัดชาวบ้านจะนำธงตะขาบไปผูกไว้กับต้นเสาในศาลาวัดเพื่อทำพิธี เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์จะนำสายสิญจน์มาวงรอบธง จากนั้นพิธีถวายธงจะเริ่มขึ้นด้วยการกล่าวบทนมัสการคุณพระศรีรัตนตรัย ตามด้วยการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ เสร็จแล้วชาวบ้านจะขึ้นไปแก้ธงตะขาบ แล้วนำธงตะขาบขึ้นไปชักบนเสาหงส์ เชื่อกันว่า ทุกครั้งที่ธงตะขาบส่ายเพราะแรงลม จะทำให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้ขึ้นสวรรค์ ประเพณีแห่ธงตะขาบเป็นกุศโลบายที่แสดงออกถึงความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยมีศาสนาเป็นตัวเชื่อมประสานความเชื่อ อีกทั้งเป็นการกำหนดกิจกรรมที่รวบรวมผู้คนของสังคมให้ร่วมแรงร่วมใจกันทางหนึ่ง พิธีกรรม ธงตะขาบแต่เดิมเป็นธงกระดาษ ต่อมาเปลี่ยนเป็นผ้า ปัจจุบันใช้เชือกเป็นเส้นขอบผูกขวางคั้นด้วยซี่ไม้ไผ่เป็นช่วง ๆ ใช้เสื่อผืนยาวปิดทับแทนผ้าหรือกระดาษเป็นลำตัว ปลายไม้ที่ยื่นสองข้างทุกซี่ประดับด้วยช้อนผูกห้อยแทนขา สลับกับพู่กระดาษเพื่อความสวยงาม หัวและหางสานผูกด้วยโครงไม้ปิดกระดาษสี จะทำกี่ตัวแล้วแต่กำลัง จากนั้นจะทำการแห่ไปที่วัด เมื่อถึงก็จะขึงธงไว้กับต้นเสาในศาลา จากนั้นพระจะนำสายสิญจน์มาวงรอบธง แล้วจึงทำพิธีถวายธงตามด้วยการสรงน้ำพระ เสร็จแล้วจึงนำธงไปชักขึ้นแขวนบนเสาหงส์

วันจัดงาน : 13 เมษายน- 15 กุมภาพันธ์ 2019 ที่อยู่ : วัดพิมพาวาส (ใต้) ตำบลพิมพา อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง