โทรศัพท์/โทรสาร 038-514-812

งานประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลาม

ประวัติความเป็นมา

“บุญข้าวหลาม” เป็นประเพณีการทำบุญถวายข้าวหลาม ขนมจีนน้ำยาป่า แด่พระภิกษุสงฆ์ วัดหนองบัว วัดหนองแหน ซึ่งอยู่ในเขต อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ประเพณีนี้มีในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี เหตุที่ถวายข้าวหลามนั้น อาจเป็นเพราะเดือน 3 เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา จึงนำข้าวอันเป็นพืชหลักของตนที่ได้จากการเก็บเกี่ยวครั้งแรก ซึ่งเรียกว่าข้าวใหม่ จะมีกลิ่นหอม น่ารับประทานมาก นำมาทำเป็นอาหาร โดยใช้ไม้ไผ่สีสุกเป็นวัสดุประกอบในการเผา เพื่อทำให้ข้าวสุก เรียกว่า “ข้าวหลาม” เพื่อนำไปถวายพระภิกษุ การเผาข้าวหลาม ชาวบ้านจะเริ่มเผาในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 โดยชาวบ้าน จะออกไปหาไม้ไผ่ ซึ่งมีอยู่มากในหมู่บ้านมาทำกระบอกข้าวหลาม ซึ่งจะต้องเลือกลำไผ่ที่ไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไป ไม่มีตามด เพราะตามดจะทำให้มีกลิ่นเหม็นและไม่มีเยื่อ ทำให้ข้าวติดกระบอก ความยาวของปล้องไม้ไผ่ ห่างพอควร ยาวประมาณ 18 นิ้ว นำไม้ไผ่ทั้งลำมาตัด หรือเลื่อยเป็นท่อน ๆ โดยมีข้อต่อที่ก้นกระบอกจากนั้นนำ “ข้าวเหนียว” ที่มีกะทิผสมเรียบร้อยแล้ว ใส่กระบอกนำไปเผาไฟที่ลานบ้าน โดยขุดดินเป็นรางตื้น ๆ เป็นที่ตั้งกระบอกข้าวหลาม รอบ ๆ แถวข้าวหลามก่อกองไฟขนานไปกับข้าวหลาม บางบ้านใช้ต้นไม้ที่ตายแล้วทั้งต้นมาเป็นเชื้อเพลิง และในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ชาวบ้านจะนำข้าวหลามขนมจีนไปทำบุญที่วัด การทำบุญข้าวหลามของชาว “ลาวเวียง” ยังคงทำกันตามประเพณีดั้งเดิม และผสมผสานกับประเพณีไทยก็คือ การปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองที่วัดเขาดงยาง (วัดสุวรรณคีรี) เขต ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กลางเดือน 3 ชาวบ้าน “ลาวเวียง” ซึ่งอยู่ห่างจากวัดดงยาง ประมาณ 4 – 6 กิโลเมตร ต้องเดินทางด้วยเท้า ไปปิดทอง โดยใช้เส้นทางผ่านบ้านหัวสำโรง ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว ซึ่งมีชาวไทย เชื้อสายเขมร ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นจำนวนมาก ประเพณีบุญข้าวหลามจึงแพร่หลายสู่บ้านหัวสำโรง และรับเป็นประเพณีของชนกลุ่มตน เป็นประเพณี “ขึ้นเขาเผาข้าวหลาม” ของชาวชุมชนหัวสำโรง ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา มาจนถึงทุกวันนี้

วันจัดงาน : 18-19 กุมภาพันธ์ 2019 ที่อยู่ : โรงเรียนชุมชนหัวสำโรง ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง